แชร์

การกู้ร่วมซื้อบ้าน

อัพเดทล่าสุด: 16 ก.พ. 2025
210 ผู้เข้าชม
การ กู้ร่วมซื้อบ้าน ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้คนอยากมีบ้านมีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้ง่ายมากขึ้น เพราะหากกู้เพียงคนเดียวก็อาจเป็นไปได้ว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าถ้ากู้ร่วมซื้อบ้านแล้วจะอนุมัติผ่านฉลุย 100% เพราะมีโอกาสที่จะกู้ซื้อบ้านไม่ผ่านได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

___________________________________________

1. ผู้กู้ร่วมมีหนี้สินติดตัว

เมื่อผู้กู้หลักมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้านผ่าน การหาผู้กู้ร่วมมาช่วยจึงเป็นหลักการง่าย ๆ ที่ทำให้รายได้ของผู้กู้เพิ่มขึ้นจนธนาคารเห็นว่าสามารถปล่อยกู้ให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ของผู้กู้ร่วมก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักอย่างเดียว แต่ธนาคารจะพิจารณาถึงหนี้สินที่ผู้กู้ร่วมมีอยู่ด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะต่อให้รายได้ของผู้กู้ร่วมเยอะ แต่มีหนี้สินติตตัวที่จะต้องผ่อนชำระเป็นจำนวนมาก ก็เป็นไปได้ว่าผู้กู้ร่วมมีความเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้ผ่อนได้ จึงทำให้ธนาคารมีสิทธิ์ปฏิเสธการขอกู้ร่วมในที่สุด

___________________________________________

2. กู้ร่วมแล้วแต่ก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพออยู่ดี

ในการขอกู้ซื้อบ้านแต่ละหลัง ราคาบ้านนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดว่าธนาคารจะอนุมัติการขอกู้ให้ผ่านหรือไม่ โดยพิจารณาจากรายได้ของผู้กู้ว่าเหมาะสมกับราคาบ้านหรือยอดเงินกู้ที่จะอนุมัติหรือเปล่า ซึ่งแม้จะเป็นการขอกู้ร่วมแล้ว ก็มีโอกาสที่รายได้ของผู้กู้ร่วมทั้ง 2 คนจะน้อยเกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้สำหรับบ้านที่มีราคาสูง ยิ่งถ้าพิจารณาหนี้สินติดตัวที่ผู้กู้ร่วมทั้ง 2 มีประกอบกันด้วยแล้ว หากพบว่ารายได้รวมกันก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ ประกอบกับแต่ละคนก็มีภาระหนี้สินอยู่ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่แม้จะกู้ร่วมแล้วแต่ก็ไม่ผ่านอนุมัติการขอสินเชื่ออยู่ดี

___________________________________________

3. ผู้กู้ร่วมมีประวัติการการผิดนัดชำระหนี้หรือติดเครดิตบูโร

หัวใจสำคัญของการกู้ซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นการกู้ซื้อแบบคนเดียวหรือกู้ร่วมก็แล้วแต่ ธนาคารจะอนุมัติก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ขอกู้หรือกู้ร่วมมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ดังนั้น แม้ผู้กู้ร่วมจะมีรายได้สูง แต่ถ้าเคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ หรือติดเครดิตบูโรอยู่ ธนาคารอาจพิจารณาว่าผู้กู้ร่วมไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ แล้วกลับไปพิจารณาที่ผู้กู้หลักเพียงแค่คนเดียว ซึ่งถ้ารายได้ของผู้กู้หลักไม่เพียงพอ มีหนี้สินติดตัวอยู่เยอะ หรืออาจมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ด้วย ก็มีโอกาสสูงมากที่แม้จะขอกู้ร่วมแล้วก็ยังไม่ผ่านอนุมัติ

___________________________________________

4. อายุผู้กู้ร่วมไม่เข้าเกณฑ์

บ้านหนึ่งหลัง คอนโดหนึ่งห้อง ปกติจะผ่อนกันอยู่ที่ประมาณ 30 ปี ซึ่งเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารนั้นจะมีเรื่องอายุเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยอายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาในการผ่อนชำระ 30 ปี แล้วไม่ควรเกิน 60 ปี หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอายุเยอะมากไป การพิจารณาอนุมัติกู้สินเชื่อก็จะมีโอกาสผ่านน้อย เพราะธนาคารมองว่ายิ่งอายุเยอะแล้ว ความสามารถในการผ่อนก็จะมีน้อยลงไป เนื่องจากอาจมีเหตุให้ต้องออกจากงานและขาดรายได้ ดังนั้น หากผู้กู้ร่วมมีอายุมากเกินไป เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด หรือธนาคารมองว่าอายุที่มากนั้นเป็นความเสี่ยงต่อการผ่อนชำระหนี้ ก็เป็นไปได้ว่าการขอกู้ร่วมนั้นจะไม่ได้รับการอนุมัติในที่สุด

___________________________________________

ไม่ใช่ว่ากู้ร่วมซื้อบ้านแล้วธนาคารจะอนุมัติผ่านเสมอไป แต่ในการขอกู้ทุกครั้งจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องความสามารถทางการเงินของทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ที่ต้องมากพอ อายุที่ต้องไม่สูงเกินเกณฑ์ ประวัติการชำระหนี้ที่ต้องขาวสะอาด ไม่ติดเครดิตบูโร ตลอดไปจนถึงผู้กู้ร่วมต้องไม่มีหนี้สินติดตัวอยู่เยอะเกินไปด้วย หากเรารู้หลักเกณฑ์เหล่านี้และพิจารณาปฏิบัติตามอย่างรอบคอบ เลือกผู้กู้ร่วมที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักการพิจารณาของธนาคาร โอกาสที่จะขอกู้ร่วมซื้อบ้านผ่านก็จะมีความเป็นไปได้แบบ 100% เต็ม

___________________________________________

 ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก REIC

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy